เป้าหมายของการลงทุน เพื่อต้องการมีเงินเพิ่มมากขึ้น แต่หากการลงทุนนั้นขาดการวางแผนที่ดีตั้งแต่แรก นั่นหมายถึงโอกาสผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น สำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวม อะไรคือข้อผิดพลาดที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด แล้วคุณหล่ะ? เป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่
8 ข้อผิดพลาดลงทุนกองทุนรวม
1.ลงทุนกองทุนรวม ไม่คำนึงถึงเป้าหมายทางการเงิน
เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ลงทุนในกองทุนรวมก็เพื่อลดหย่อนภาษี แต่จริงๆแล้วต้องดูว่าการที่เราจะลงทุนนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่เราวางแผนไว้หรือเปล่า อย่างเช่นวางแผนที่จะเกษียณ ต้องคำนึงถึงระยะเวลาในการลงทุน หากเราอายุ 30 สัดส่วนในการลงทุนสามารถลงทุนในกองทุนรวมหุ้นในสัดส่วนที่มากได้ เนื่องจากมีระยะเวลาในการลงทุนที่นานพอสมควร สำหรับคนที่ลงทุนเพื่ออยากมีเงินเก็บไปท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า ระยะเวลาที่น้อยเช่นนี้ สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นให้น้อยลง แล้วไปเน้นหนักที่กองทุนรวมตราสารหนี้
2.ไม่เข้าใจการกระจายความเสี่ยงที่ถูกต้อง
การกระจายความเสี่ยงที่ดี ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินของเรา ตามหลักการที่ว่า “ ไม่ควรใส่ไข่ไว้ในตะกร้า 1 ใบ” ถ้าลงสินทรัพย์ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเพียงใบเดียว หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือเกิดวิกฤตทางการเงิน ก็มีโอกาสที่จะสูญเสียเงินทั้งหมดของเรา บางคนอาจจะบอกว่าให้แยกซื้อกองทุนรวมของแต่ละแบงค์ อันนี้ต้องมาดูว่าสุดท้ายแล้ว กองทุนรวมที่ซื้อไปนั้นลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลองศึกษาดูว่าแต่ละกองทุนที่เราสนใจนั้นมีการกระจายตัวที่ดีแล้วหรือยัง
3.พยายามจะจับจังหวะตลาด
หลายๆคนมักจะซื้อกองทุนรวมทีเดียวตอนสิ้นปี หรือซื้อครั้งเดียว นั่นเป็นการจับจังหวะตลาดที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนเพิ่มขึ้น การกระจายความเสี่ยงในการจับจังหวะที่ดี ควรแบ่งเงินลงทุนตามเทคนิคที่เรียกว่า Dollar Cost Average (DCA ) ซึ่งเป็นการทยอยลงทุนด้วยจำนวนเงินเท่าๆกันในทุกๆเดือน สมมติตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะซื้อกองทุน 120,000 บาท ต้องกระจายเลยว่าจะลงทุนต่อเนื่องทุกเดือนๆละ 10,000 บาท เพื่อตัดปัญหาเรื่องของการจับจังหวะตลาดที่คาดการณ์ได้ยาก
4.เลือกกองทุนตามขนาด
หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่า กองทุนรวมที่ดีต้องมีขนาดกองทุนที่ใหญ่ หรือมีเม็ดเงินลงทุนในจำนวนที่เยอะมาก ซึ่งจริงๆแล้วเรื่องของผลตอบแทน performance ของกองทุนไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยกับขนาดของกองทุนรวม
5.เลือกกองทุนโดยดูจาก NAV
Net Asset Value (NAV) คือ ราคาต่อหน่วยของกองทุนที่เราไปซื้อ หลายคนบอกว่าทำไมกองทุนนี้ขายราคา NAV 10 บาท กับอีกกองทุนนึงราคา NAV 20 บาท ถ้าซื้อกองทุนที่ NAV 10 บาทก็น่าจะถูกกว่ารึเปล่า คำตอบคือไม่ใช่ กองทุนรวมส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ราคา 10 บาท ส่วนกองทุนรวมที่ราคาแตะไปที่ 20 บาทอาจจะเปิดมาแล้ว 20 ปีก็ได้ ทำให้สินทรัพย์ของกองทุนรวมนั้นมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องดูผลตอบแทนโดยรวมว่าที่ผ่านมาทำได้ดีหรือเปล่า โดยไม่ได้ดูแค่ราคา NAV เท่านั้น
6.ดูแค่ผลตอบแทนย้อนหลัง
เมื่อต้องการซื้อกองทุนรวม คนส่วนใหญ่มักจะดูว่าได้ผลตอบแทนอย่างไร ที่ผ่านมาทำกำไรได้กี่เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะดูย้อนหลัง 5 ปี 10 ปี แต่นั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้าย จะต้องดูในเรื่องของความเสี่ยงที่มาด้วยกันกับผลตอบแทนที่ได้รับด้วย สิ่งที่ต้องดูคือ Maximum Drawdown หรือความเสียหายที่มากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับกองทุนรวมนั้น สมมติว่าเราไม่ชอบความผันผวนที่เกิดขึ้นในการลงทุน แต่กองทุนนี้ให้ผลตอบแทนดีถึงปีละ 10% แต่เคยขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ 30-40% เราจึงไม่อาจทนถือขาดทุนไม่ได้ เพราะทำให้เสียผลตอบแทนที่จะได้รับตามไปด้วย นอกจากนี้ต้องไม่ลืมดูในเรื่องของค่าธรรมเนียม เช่น กองทุนรวม A ผลตอบแทน 10% ต่อปี กองทุนรวม B ผลตอบแทน 10% ต่อปีเช่นกัน ตรงนี้ต้องวัดจากค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่าย กองทุนรวม A เสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ส่วน B เสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 1% ต่อปี แน่นอนว่าต้องเลือกค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า
7.ไม่วัดผล ไม่คอยติดตามผลงานของกองทุนรวมที่เราลงทุน
กองทุนรวมที่เราซื้อไปอาจทำผลตอบแทนได้ดีในหนึ่งปีแรก ในปีต่อๆไปเราต้องคอยติดตามว่า performance ของกองทุนยังดีอยู่หรือไม่ โดยเทียบเคียงกับกองทุนที่มีความคล้ายคลึงกันในประเภทของสินทรัพย์ที่ลงทุนไป สมมติว่า ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่เป็นหุ้นไทยขนาดเล็ก ก็ต้องไปเทียบกับกองทุนรวมหุ้นไทยขนาดเล็กเช่นกัน หากกองทุนเราทำ performance ได้ 8% อีกกองทุนได้ 10% เราอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือลองซื้อกองทุนรวมที่ผลตอบแทนมากกว่า อีกเหตุผลที่ต้องคอยติดตามผลตอบแทนกองทุนรวมก็เพื่อปรับสมดุลของสัดส่วนการลงทุนให้คงที่อยู่เสมอ สมมติว่า ลงทุนในกองทุนหุ้น 60% กองทุนตราสารหนี้ 40% พอลงทุนไปสักพัก หุ้นได้ผลตอบแทนดี สัดส่วนของมูลค่าหุ้นอาจโตถึง 80% จึงควรปรับพอร์ตการลงทุนกลับไปสู่สมดุลเดิม คือ กองทุนหุ้น 60% โดยการขายกองทุนหุ้นที่มีกำไรออกไป 20%
8.ไม่เริ่มต้นลงมือทำ
หลายคนคิดว่าการลงทุนในกองทุนรวมต้องมีเงินอย่างน้อยหลักหมื่นจึงจะลงทุนได้ ทำให้หลายคนไม่กล้าลงทุน แต่ความจริงแล้วมีเงินแค่หลักพันก็สามารถลงทุนได้ โดยทำควบคู่กับการวางแผนทางการเงินที่ดี เพราะการลงทุนนั้นมีในเรื่องของดอกเบี้ยทบต้นนั่นเอง ถ้าเริ่มตอนนี้ ภายใน 10 ปีข้างหน้าจะเห็นผลตอบแทนทันที แม้ลงทุนหลักพัน ก็อาจกลายเป็นเงินหลักหมื่นหรือหลักแสนได้
การวางแผนการลงทุนลงทุนกองทุนรวมที่ดี จำเป็นต้องมีเป้าหมายทางการเงิน ศึกษาข้อมูลให้ละเอียด มีวินัย และเริ่มลงมือทำเดี๋ยวนี้! กว่าจะได้รับผลตอบแทนต้องอาศัยระยะเวลาในการลงทุน ท้ายที่สุดแล้วก็จะย้อนกลับไปที่คำว่า “เริ่มต้นลงทุนเร็ว ก็รวยเร็ว” นั่นเอง