การออมเงินที่ดีมีหลักการอย่างไร และจะออมเงินของเราไว้ที่ไหน เริ่มต้นด้วยหลักการง่าย ๆ ในการออมเงินให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายอย่างถูกวิธี
วิธีการออมเงินอย่างฉลาด
หากเราอยากได้อะไรสักอย่าง เราจะทำอย่างไรกับความอยากได้นั้น ถ้าเป็นตอนที่เรายังเด็ก อาจไปขอกับพ่อแม่ได้ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ให้ก็ค่อยมาหาวิธีเก็บเงินซื้อเองจากเงินค่าขนมที่ได้ไปโรงเรียน ต้องตั้งเป้าหมายว่าต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไหร่ จึงจะนำไปซื้อของที่เราอยากได้เพียงพอ ยกตัวอย่าง เป้าหมายเราคือเก็บเงินให้ได้ 1,000 บาท และเราก็มีเงินไปโรงเรียนวันละ 100 บาท เราเก็บไว้ก่อนเลย 60 บาท เอาไปใช้ที่โรงเรียนเพียง 40 บาทเท่านั้น เพื่อให้เราสามารถเก็บเงินได้ถึง 1,000 บาท โดยเร็ว แต่ชีวิตจริงส่วนมากไม่เป็นเช่นนั้น
คนจนใช้ก่อนแล้วค่อยออม
เรามักจะนำเงินที่มีมาใช้จ่ายก่อน แล้วเหลือเท่าไหร่ก็ค่อยเก็บออม และในความเป็นจริงเรามักใช้เงินไปกับสิ่งของฟุ่มเฟือย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ หรือสินค้าของแบรนด์เนมต่าง ๆ ขาดทั้งแผนการใช้จ่ายและแผนการออม ซึ่งไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ออมเงินได้สำเร็จ
คนรวยออมก่อนแล้วค่อยใช้
ในหลักการที่ถูกต้อง เราควรเก็บออมเงินก่อนส่วนหนึ่ง และนำเงินอีกส่วนหลังจากการออมมาใช้จ่าย สมมติเรามีเงินเดือน 30,000 บาท วางแผนการเงินอย่างดี อาจแบ่งส่วนเก็บออม 50% เท่ากับ 15,000 บาท ส่วนที่เหลือนำไปใช้จ่าย 50% คือ 15,000 บาท แล้วบริหารการใช้จ่ายเงินภายใต้เงินจำนวน 15,000 บาท ถึงแม้ตอนใกล้สิ้นเดือน อาจจะไม่พอใช้ทำให้ต้องลำบากกินมาม่าแทนข้าวบ้างก็ต้องยอม ถ้าต้องการออมเงินอย่างถูกวิธี ถ้าทำแบบนี้ออมเงินได้สำเร็จแน่นอน
วิธีการออมเงินอย่างฉลาด ออมเงินไว้ที่ไหนดี
เมื่อเราเก็บออมเงินได้แล้ว ต้องหาทางให้เงินนั้นงอกเงย แต่ละคนจะมีช่องทางการออมเงินที่แตกต่างกันไป บางคนเก็บไว้ในกระปุกออมสิน บางคนฝากไว้ในธนาคารเพื่อรอรับดอกเบี้ย แต่ในปัจจุบันมีหลายคนนำเงินมาออมไว้ในหุ้น หรือที่เรียกกันว่าเล่นหุ้น แต่เราต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างการออมไว้ในหุ้นกับการเล่นหุ้น เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด เข้ามาเล่นหุ้นแบบเล่น ๆ ไม่มีการวางแผนอย่างจริงจัง เข้ามาเล่นในลักษณะของการเสี่ยงโชค กล้าได้กล้าเสีย แบบเสี่ยงโชค อาจดูว่าตื่นเต้นดี ไม่ได้นำเงินมาออมในหุ้นอย่างจริงจัง แต่ในทางที่ถูกแล้วเราควรจะนำเงินมาออมในหุ้นที่ทำให้เงินของเรางอกเงยเพิ่มขึ้น ไม่ใช่การเล่นหุ้น
การออมเงินไว้ในหุ้น
คือการลงทุน (investment) เป็นช่องทางที่จะทำให้เงินเราเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเป้าหมายของเราต้องการออมเงิน ที่เราเก็บมาด้วยความยากลำบาก อดทนกับความต้องการต่าง ๆ ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไม่เปลี่ยนมือถือบ่อย เที่ยวน้อยลง ฯลฯ ดังนั้นเงินที่เก็บออมมาต้องไม่สูญหายไปอย่างง่ายดาย ต้องไม่เอาเงินมาหมดไปกับการเล่นหุ้น ให้ทำความเข้าใจว่าการออมไว้ในหุ้น คือการนำเงินไปซื้อหุ้นของบริษัทที่ดี ที่มีความมั่นคง หากมีเงินปันผลด้วยยิ่งเป็นการดี หากบริษัทนั้นมีการเติบโตปีละ 15 – 20% และยังมีเงินปันผล 3 – 5% ต่อปี หรืออาจจะมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ ลองคิดดูว่าถ้าเราออมเงินไปทุกเดือน เงินของเราก็จะงอกเงยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าการออมเงินในหุ้น คือการซื้อหุ้นหรือใส่เงินไปครั้งเดียวก้อนเดียวเลย เช่น ลงทุนไป 100,000 บาท แล้วคาดหวังจากเงินจำนวนนี้จำนวนเดียว โดยไม่ใส่เพิ่มอีกแล้ว ว่าให้งอกเงยเป็นหลักหลายล้านบาท ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่ผิด สิ่งที่ถูกคือเรานำเงินมาออมในหุ้น แบบสะสมค่อย ๆ ออม อาจจะเป็นเดือนละ 10,000 บาท และออมอย่างสม่ำเสมอ โดยซื้อหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดีไม่ใช่หุ้นปั่น ซึ่งหมายถึงว่าต้องดูองค์ประกอบของหุ้นพื้นฐานดีด้วย เช่น P/E Ratio, กำไรสะสมเพิ่มต่อเนื่องหรือเติบโตดีหรือไม่ เป็นต้น
การนำเงินไปออมในธนาคาร
เราอาจได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์เพียง 0.5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยมาก เงินของเราแทบจะไม่งอกเงยเลย เงินเราจะโตไม่ทันเงินเฟ้อแน่นอน เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อประเทศไทยปีละประมาณ 4% หากเราออมเงินกับธนาคารเราจะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ มูลค่าเงินของเราก็จะลดลงทุกปี ตัวอย่างของภาวะเงินเฟ้อที่เห็นได้อย่างชัดเจน จากเมื่อก่อนเราอาจมีเงิน 2.50 บาท นั่งรถเมล์ได้แล้ว แต่ทุกวันนี้เราต้องใช้เงิน 8 – 9 บาท จึงจะใช้บริการรถเมล์ได้ ยิ่งเวลาผ่านไป สินค้าข้าวของก็มีแนวโน้มที่จะราคาสูงเพิ่มขึ้น แล้วยิ่งถ้าเราไม่เอาเงินที่เก็บไปลงทุนหรือทำอะไรเลย เงินเราก็จะยิ่งมีขนาดเล็กลงทุกวัน
หากการออมเงินในหุ้น เป็นช่วงที่ตลาดไม่ดี หรือสถานการณ์แย่ล่ะ เคยสงสัยหรือไม่ ทำไมหลายคนสามารถรวยขึ้นได้ในสภาวะของตลาดหุ้นที่กำลังย่ำแย่ แสดงว่าต้องมีวิธีหรือเคล็ดลับที่จะทำให้เราก็รวยได้ในสถานการณ์อย่างนั้นเช่นกัน