ประวัติ อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ก่อตั้ง JMART
เมื่อพูดถึง Jaymart หลายคนมักนึกถึงผู้นำด้านธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือของไทย ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี มีบริษัทในเครือมากกว่า 10 แห่ง จากทุนตั้งต้น 2 ล้านบาท สู่ธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ขยายธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ขายมือถือ ติดตามหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึง FinTech เราได้สรุปแนวคิดในการบริหารงานของ คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ที่ผลักดันให้ Jaymart ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ประวัติ อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา จากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องแถว สู่อาณาจักร Jaymart
คุณอดิศักดิ์ เติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อเปิดร้านขายรองเท้าที่จังหวัดยะลา จึงได้เรียนรู้การค้าขายตั้งแต่เด็ก พออายุ 15 ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพียงตัวคนเดียวเพื่อเรียนหนังสือ จากนั้นมีโอกาสเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งคุณอดิศักดิ์มีความเห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่โอกาสและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ทำงานเป็นเวลา 9 ปี จึงตัดสินใจลาออกมาก่อตั้ง Jaymart ร่วมกับภรรยา ในตอนนั้นมีทุนอยู่ 2 ล้านบาท แน่นอนว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเจอกับปัญหาที่ต้องคอยแก้แทบทุกวัน หาเงินทุนหมุนเวียนด้วยการกู้เงิน รวมถึงจำนองบ้าน ลูกค้าบางรายซื้อสินค้าไปแล้ว แต่ไม่ยอมผ่อนชำระ เรียกได้ว่าบริหารธุรกิจแบบล้มลุกคลุกคลานตลอดเส้นทาง เมื่อดำเนินธุรกิจมาเรื่อยๆ จนก้าวสู่ธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือผ่านระบบผ่อนชำระ ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในช่วงเวลานั้น และได้มองเห็นโอกาสในการที่จะเป็นบริษัทจัดการหนี้สิน โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเป็นบริษัทติดตามหนี้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ปัจจุบันบริษัทมีสถานะเป็น Holding Company โดยมี Jaymart Mobile เป็นธุรกิจหลัก
แนวคิดในการทำธุรกิจ
1.การทำธุรกิจต้องเป็นผู้นำ อย่าเป็นผู้ตาม
ทุกก้าวย่างการเติบโตของกลุ่ม Jaymart คุณอดิศักดิ์มักจะตั้งเป้าหมายใหญ่เสมอ มีปรัชญาการทำธุรกิจภายใต้แนวคิด “สร้างฝุ่น อย่ากินฝุ่น” ซึ่งหมายถึง “ต้องเป็นผู้ก้าวนำในธุรกิจ” สะท้อนการทำธุรกิจในฐานะผู้บุกเบิก อย่างธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือเมื่อ 30 ปีก่อน ก็ต้องผลักดันตัวเองให้ขึ้นมาเป็นที่หนึ่งให้ได้ โดยปี 2552 บริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือในขณะที่บริษัท JMT Network Services ยังมีขนาดเล็ก ได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเป็นบริษัทติดตามหนี้ที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันกลายเป็น “หุ้นห่านทองคำ” ที่สร้างผลตอบแทนโดดเด่นสุด รวมถึง JFin coin คริปโตเคอร์เรนซี่ตัวแรกของไทย ซึ่งมีการปูทางไว้สำหรับอนาคต
2.เมื่อมีโอกาส ต้องรีบคว้า และลงมือทำ
ในปี 2542 ได้ก่อตั้งธุรกิจให้เช่าพื้นที่ภายใต้แบรนด์ IT Junction จากการพัฒนาพื้นที่จอดรถที่ได้จากทาง BigC ให้เป็นศูนย์จำหน่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ธุรกิจขาดทุนตั้งแต่ปีแรก จึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์โดยการเช่าพื้นที่เองทั้งหมด เมื่อคนเริ่มมาเดินมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าดึงดูดให้ร้านค้าสนใจอยากที่จะเช่า จนกลายเป็นตลาดที่แข็งแรง จากนั้นได้ต่อยอดมาสร้าง Community Mall ของตัวเอง นั่นคือ Jas Asset ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้า รวมถึงมีการพัฒนาโครงการ Serena Senior Wellness ธุรกิจที่ตอบรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไทย ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า เมื่อโอกาสมาถึงแล้ว แต่หากไม่ลงมือทำ ผลลัพธ์ก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
3.ทำธุรกิจต้องมีความอดทน
ความแตกต่างระหว่างเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ กับคนที่ล้มเหลวนั้นแบ่งง่ายๆ ด้วย “ความอดทน” หลายครั้งที่ผู้บุกเบิกธุรกิจเป็นคนแรก อาจไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเสมอไป ความอดทน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายได้ กว่าที่ Jaymart จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นั้น ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี แม้ต้องยื่นเอกสารถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะกว่าที่จะบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้ ต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย และถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วน แม้วันนี้อาจไม่ใช่วันของเรา แต่ยังมีเวลาให้พัฒนาต่อไป สิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจให้แข็งแรง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในวันข้างหน้า
4.เรียนรู้การทำธุรกิจจากคนที่ประสบความสำเร็จ
จากประสบการณ์ทำงานบริษัท 9 ปี และการที่ได้รู้จักกับลูกค้ามากมาย ทำให้คุณอดิศักดิ์ เห็นช่องทางในการทำธุรกิจของตัวเอง กลายมาเป็นธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้ารูปแบบเงินผ่อน โดยเลียนแบบโมเดลธุรกิจจาก SINGER ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการเก็บเงิน การติดตามทวงถามหนี้ อาศัยประสบการณ์ในการเก็บค่าผ่อนชำระสินค้า มาสร้างธุรกิจติดตามหนี้ (JMT) ในเวลาต่อมา ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ไอเดียการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องคิดค้นขึ้นใหม่เสมอไป อาจมาจากประสบการณ์ ทักษะที่เชี่ยวชาญ หรือแม้แต่การสังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จทำอะไร และเราจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้อย่างไร
5.กลยุทธ์การทำงานแบบที่เรียกว่า Synergies
การที่ Jaymart มีหลายธุรกิจทั้งค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี แต่สามารถเติบโตไปด้วยกันและปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว เคล็ดลับที่สำคัญคือ กลยุทธ์ Synergies หรือการนำธุรกิจต่างๆ มาเชื่อมต่อกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของบริษัทในเครือ เช่น JMT ไปช่วยเก็บเงินให้ SINGER และ KB J Capital หรือร้านกาแฟ Casa Lapin ที่รองรับงานจัดเลี้ยงของธุรกิจในกลุ่ม JMART กลยุทธ์นี้เป็นการขยายโอกาสการทำตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่าเดิม
Jaymart ถือว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นกลุ่มธุรกิจที่อนาคตไกล จากจุดเริ่มต้นของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อน สู่ Holding Company ด้วยสายตาของผู้บริหารที่มีพื้นฐานเรื่องเศรษฐศาสตร์ นอกจากอ่านเกมธุรกิจได้ขาดแล้ว บวกกับการที่ไม่เคยปฏิเสธโอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทาย อาศัยความอดทนในการทำธุรกิจ ล้วนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ส่งผลให้ JMART เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
สนใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
เปิดบัญชีเทรด bitkub ตามลิ้งค์นี้นะครับ
👉 https://bit.ly/3fLjDtU
เปิดบัญชีเทรด Satangpro ตามลิ้งค์นี้นะครับ
👉 https://bit.ly/3i2Kgf2
เปิดบัญชีเทรด Bitaza ตามลิ้งค์นี้นะครับ
👉 https://bit.ly/3vEpNSK
เปิดบัญชีเทรด Binance ตามลิ้งค์นี้นะครับ
👉 https://bit.ly/3pIPkb0
ติดตามความรู้ ข่าวสารการลงทุน / ติดต่อโฆษณาประชาสัมพันธ์