หุ้น

10 นิสัยเซียนหุ้น | ลงทุนหุ้นอย่างไรให้รวยสไตล์ VI

Written by invest2morrow

ลงทุนหุ้นอย่างไรให้รวย ต้องมีนิสัยอย่างไรถึงจะเป็นเซียนหุ้นได้ เรามาดู 10 นิสัยเซียนหุ้น จากมุมมอง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุน VI (Value Investor) ต้นแบบที่เป็นรู้จักกันดีในตลาดหุ้น หลายคนเรียกว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์เมืองไทย

จากในอดีต ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะทำงานเกี่ยวกับบริษัทไฟแนนซ์ เขาถูกให้ออกจากงานในช่วงเวลานั้น โดยที่มีเงินอยู่ก้อนหนึ่งจำนวน 10 ล้านบาท ดร.นิเวศน์ จึงได้นำไปลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งราคาดิ่งลงเยอะมากเพรดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุน VI (Value Investor) ต้นแบบที่เป็นรู้จักกันดีในตลาดหุ้น หรือที่หลายคนเรียกว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์เมืองไทยาะเป็นช่วงวิกฤต เขาต้องการเพียงเงินปันผลเท่านั้น ไม่ได้คาดหวังส่วนต่างของกำไรในการซื้อขายหุ้น เพราะถ้าเขาลงทุนไป 10 ล้านบาท แล้วได้เงินปันผล 10% คิดเป็นเงิน 1 ล้านบาท ต่อปี เพียงเท่านี้จะทำให้เขามีรายได้พอค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว

แต่ใครจะรู้ ตั้งแต่วันนั้นจนมาถึงวันนี้ 20 กว่าปี พอร์ตของ ดร.นิเวศน์ เติบโตสูงมากถึง 30 %  ทำให้ 10 ล้านบาท ในวันนั้น กลายมาเป็นหลาย 1,000 ล้านบาทในวันนี้

ลงทุนหุ้นอย่างไรให้รวย ด้วยนิสัย 10 ข้อ ของเซียนหุ้น

1.รักษาเงินต้น สำคัญกว่าทำกำไร

นักลงทุนไม่ได้มุ่งมองผลตอบแทนจำนวนมาก แต่มองว่าจะรักษาเงินต้นไว้ได้อย่างไร มีกฎข้อที่ 1 ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า อย่าขาดทุน กฎข้อที่ 2 ให้ไปดูข้อที่ 1 นั่นคือการรักษาเงินต้นให้ได้นั้นมีความสำคัญมาก หรือแม้แต่เบนจามิน เกรแฮม อาจารย์ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่กล่าวไว้ว่า การลงทุนต้องให้ได้กำไรแน่นอน คือต้องไม่ขาดทุน นิสัยนี้อาจตรงกันข้ามกับนักเล่นหุ้นรายย่อย ที่มุ่งเน้นผลกำไร ปีนี้หุ้นตัวไหนจะมีกำไรเท่าไหร่ โดยไม่ได้คำนึงถึงการรักษาเงินต้น

2. ปรัชญาลงทุนชัด ไม่ใช่มวยวัด

เซียนหุ้นจะมีปรัชญาหรือแนวทางการลงทุนที่ชัดเจน ทั้งที่เกิดจากการศึกษาและประสบการณ์ เขาจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ถึงจะเป็นช่วงตลาดขึ้นหรือลง ก็จะไม่เปลี่ยนปรัชญาการลงทุน เซียนหุ้นจะใช้หลักการหรือปรัชญาเดิมที่เขาได้ยึดมา ถ้าจะประสบความสำเร็จในระยะยาวต้องมีปรัชญาการลงทุนที่หนักแน่นตลอดเส้นทางการลงทุน

3. โอกาสชนะต้องสูง มีความได้เปรียบ

เซียนหุ้นไม่ชอบความเสี่ยง ตรงกันข้ามกับรายย่อยหรือที่เรียกว่าแมงเม่าอย่างสิ้นเชิง ที่มีความชอบเสี่ยง เพราะคาดหวังผลตอบแทนสูง แต่ในทางกลับกัน เซียนหุ้นชอบความได้เปรียบ ถ้าวิเคราะห์แล้วเห็นว่าได้เปรียบถึงจะลงทุน เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ว่ามีโอกาสชนะหรือแพ้ มากกว่ากัน ต้องโอกาสชนะมากกว่าเท่านั้นจึงจะลงทุน

4. ลงทุนในสิ่งที่รู้ วิเคราะห์ด้วยตัวเอง

เซียนหุ้นมักจะลงทุนในบริษัทที่ได้มีการวิเคราะห์แล้ว และเขาต้องมีความเข้าใจกิจการของบริษัทนั้นอย่างแท้จริง จากการที่ได้ผ่านกระบวนการคิด กลั่นกรอง วิเคราะห์ด้วยตรรกะเหตุผลของตัวเอง เขาจะไม่ลงทุนกับบริษัทที่ทำกำไรได้ง่ายในเวลาอันรวดเร็ว แต่เมื่อไปดูอัตราส่วนทางการเงิน เช่น P/E (อัตราส่วนราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น), P/BV (อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น) อยู่ในอัตราที่สูงมาก ธุรกิจไม่มีความแน่นอน ทำความเข้าใจได้ยาก ถ้าเป็นแบบนี้เซียนหุ้นจะไม่ลงทุน เพราะเขาจะเลือกลงทุนกับบริษัทที่ได้มีการศึกษาวิเคราะห์แล้วเกิดความเข้าใจด้วยตัวเอง

5. ไม่ถือหุ้นจำนวนมาก น้อยนิดแต่มหาศาล

ไม่ควรกระจายความเสี่ยงมากเกินไปด้วยการซื้อหุ้นหลายสิบตัวที่เราไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทั่วถึง เราควรซื้อเพียง 5 – 10 ตัว ที่จะสามารถติดตามผลประกอบการทั้งจากการประชุมผู้ถือหุ้นและทิศทางของผู้บริหาร หากยกตัวอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์หรือปีเตอร์ ลินซ์ ที่เป็นนักลงทุนระดับโลก เขาอาจมีหุ้นหลายสิบตัวในพอร์ต แต่จะมีหุ้นหลักอยู่ไม่กี่ตัวที่จะสร้างผลตอบแทนให้เขาได้อย่างน่าประทับใจ

6. EQ สูง ใจเย็น อดทนรอได้

หากมีเหตุการณ์ไม่ปกติหรือความไม่สงบ เซียนหุ้นจะไม่ตื่นเต้นไปกับสภาวะนั้น เพราะถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่อาจไม่ได้กระทบมายังผลประกอบการของธุรกิจมากนัก และสถานการณ์เช่นนี้มักมีบ่อยครั้ง แต่เซียนหุ้นจะวิเคราะห์ไปที่ตัวธุรกิจ ไม่ตัดสินใจลงทุนจากภาวะของตลาดหุ้น ในทางตรงกันข้าม จะศึกษาวิเคราะห์และอดทนรออย่างใจเย็น แต่เมื่อมีจังหวะและโอกาสเขาจะตัดสินใจได้ทันที

7. Cut Loss เป็น ไม่ยอม “ติดหุ้น”

เซียนหุ้นจะยอมรับความจริงและข้อผิดพลาดได้ เมื่อถึงช่วงที่เหตุผลในการซื้อหุ้นตัวนั้นหมดไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงไป ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา เพราะเมื่อรู้ว่าที่ซื้อไปผิดทาง เซียนหุ้นจะไม่ยอมติดหุ้นหรือติดดอย ซึ่งแตกต่างกับแมงเม่า เมื่อผิดทางแล้วติดดอย จะถือหุ้นนั้นไว้ได้เป็นปี โดยไม่ยอมขาย ยึดหลักไม่ยอมขาดทุน แต่หากหุ้นตัวไหนเริ่มมีกำไรนิดหน่อย อาจจะ 3 – 7 % จะรีบขายแล้ว เป็นลักษณะทนรวยไม่ได้ แต่ทนจนได้

8. ลงทุนหุ้นมี Story เหตุผลสำคัญกว่าอารมณ์

เซียนหุ้นจะมีเรื่องราวที่มาในการซื้อหุ้น โดยไม่ใช่เหตุผลด้านราคาเท่านั้น แต่จะดูเหตุผลทางธุรกิจ เช่น บริษัทกำลังจะขยายสาขา หรือกำลังจะได้รับงานใหญ่ เซียนหุ้นจะวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท ที่จะทำให้บริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาหุ้นของบริษัท

9. หายใจเข้าออกเป็น “หุ้น”

เซียนหุ้นจะสนใจและหมกมุ่น คิดทุกอย่างเป็นเรื่องหุ้น ไม่ว่าจะไปไหนจะทำอะไร เขามองทุกอย่างให้สัมพันธ์กัน สังเกตบริษัทกิจการร้านค้าร้านอาหาร ว่ามีลูกค้าเยอะหรือไม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างไร เป็นการเยี่ยมชมกิจการหุ้น หายใจเข้าออกเป็นหุ้น เพราะคนที่เก่งเป็นเซียนหุ้นได้ ไม่ใช่เพราะมีพรสวรรค์ แต่เขาลงมือทำ ทำซ้ำ ๆ ทำอย่างมี passion หลงใหลชื่นชอบในหุ้น ใช้เวลาไปกับการลงทุน ศึกษาตลาดหุ้น วันนี้เราก็จะเก่งกว่าเมื่อวานแน่นอน

10. รวยมาก แต่สมถะมาก

เซียนหุ้นที่ร่ำรวยมักจะใช้ชีวิตธรรมดา ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ใช้เงินซื้อของไม่จำเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นแบบอย่างของคนรวยมากที่ยังอยู่บ้านหลังเดิม ใช้รถธรรมดา เซียนหุ้นเมืองไทยหลายคนก็เช่นกัน เขาจะไม่ใช้เงินเกินฐานะของตัวเอง ต่างกับหลายคนที่ลงทุนในหุ้นพอเริ่มมีเงิน ก็นำไปใช้จ่ายซื้อของที่ไม่จำเป็น เมื่อเจอวิกฤต อาจทำให้ต้องขายสิ่งของทั้งที่ไม่จำเป็นและจำเป็นออกไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่เป็นคำสอนของคนจีน หากไม่รู้จักประหยัด หาเงินได้มากเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ หากยังมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ อย่างไรก็ยังจนอยู่ดี

ลงทุนหุ้นอย่างไรให้รวย  สำรวจตัวเองว่าเรามีนิสัยทั้ง 10 ข้อ ในแบบเซียนหุ้นตามมุมมองของ ดร.นิเวศ เหมวชิรวรากร ที่ได้มีการสังเกตเซียนหุ้นมาแล้ว หรือไม่ ขาดเหลือข้อไหน รีบปรับรีบจูนเพื่อให้เข้าที่เข้าทาง

Spread the love

About the author

invest2morrow

เว็บไซต์ให้ความรู้สำหรับการ "ลงทุน" สำหรับมือใหม่ และข่าวสารการลงทุนทั่วโลก
ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 0926565298