ประวัตินักลงทุน

ประวัติ COM7 จากร้านขายคอมพิวเตอร์ในห้างพันธุ์ทิพย์ สู่อาณาจักรธุรกิจหมื่นล้าน

Written by invest2morrow

สรุปประวัติและ แนวคิดของคุณ สุระ คณิตทวีกุล ผู้ก่อตั้ง COM7

รู้หรือไม่ว่า แบรนด์ร้านขายสินค้าไอทีชื่อดังอย่าง Studio7 และ BaNANA มีเจ้าของเดียวกันคือ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น COM7 หนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งวงการสินค้าไอทีในไทย ผู้ก่อตั้งคือ คุณสุระ คณิตทวีกุล ถือว่าเป็นหนึ่งในนักธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ลองมาศึกษาแนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารว่า แนวคิดในการทำธุรกิจแบบใดที่สามารถผลักดันให้ร้านค้าเล็กๆ ค่อยๆ ขยับขยายสู่ธุรกิจจำหน่ายสินค้าไอทีอันดับ 1 ของไทยที่เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด

ประวัติ COM7  จากร้านขายคอมพิวเตอร์ในห้างพันธุ์ทิพย์ สู่อาณาจักรธุรกิจหมื่นล้าน

ปัจจุบันบริษัท COM7 มี Business Model อยู่ 4 ประเภท ที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้ คือ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจเชิงพาณิชย์และลูกค้าองค์กร ธุรกิจบริการ และธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ จุดเริ่มต้นเมื่อปี 2539 ในห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า คุณสุระ คณิตทวีกุล  เริ่มต้นธุรกิจขายคอมพิวเตอร์ภายใต้ชื่อร้าน BIG IT และต่อยอดธุรกิจค้าส่งสินค้าไอทีให้กับร้านค้าปลีกทั่วประเทศ พอดำเนินธุรกิจไปสักระยะ ก็มองเห็นโอกาสการเติบโตในตลาดไอทีของไทยที่ยังมีอยู่มาก ในตอนนั้นสัดส่วนคนไทยที่สามารถเข้าถึงและใช้งานคอมพิวเตอร์ยังมีน้อยมากไม่ถึง 10%  ต่อมาตลาดค้าส่งสินค้าไอทีเริ่มมีการแข่งขันสูง รวมถึงคู่แข่งรายใหญ่และบริษัทต่างชาติ คุณสุระ มองว่าธุรกิจค้าปลีกยังมีพื้นที่ให้เติบโตมากกว่า จึงหันมาโฟกัสกับธุรกิจค้าปลีก และวางแผนขยายธุรกิจไปยังห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในตอนนั้นห้าง ยังไม่มีคู่แข่ง จึงเป็นที่มาของ BIG IT สาขาแรกที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ในขณะเดียวกันได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ และสร้างแบรนด์เพื่อเข้าถึงคนทั่วไป จนกลายมาเป็นแบรนด์ BaNANA  รวมถึงสิทธิ์ในการจำหน่ายสินค้าแบรนด์ Apple รายใหญ่ในไทย ภายใต้ชื่อ Studio7

แนวคิดที่ได้จากการศึกษาธุรกิจ COM7

  1. มองหาโอกาส และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

สังเกตว่าสิ่งหนึ่งที่คุณสุระเฝ้ามองหาอยู่ตลอดก็คือ “โอกาส” เมื่อเห็นโอกาสแล้ว ก็เริ่มลงมือทำก่อน เลือกที่จะไปเปิดร้านในห้างเพื่อที่จะได้เป็นเจ้าแรก เมื่อเห็นว่าธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีมีโอกาสเติบโต และมีข้อได้เปรียบมากกว่าขายส่ง จึงได้ปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจของบริษัท เพิ่มช่องทางค้าปลีกไปยังห้างสรรพสินค้า เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไป เพิ่มโอกาสการทำตลาด และสร้างการเติบโตในอนาคต รวมถึงสร้างแบรนด์เพื่อเข้าถึงผู้คนมากขึ้น และมีการปรับภาพลักษณ์แบรนด์เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันอีกด้วย

  1. รู้จักปรับตัวไปตามสถานการณ์ มีความยืดหยุ่นและรวดเร็ว

ความเสี่ยงของธุรกิจค้าปลีกส่วนใหญ่มากจากการบริหารสินค้าคงคลัง และการกระจายสินค้าไปยังหน้าร้านสาขาต่างๆ แต่ประเด็นสำคัญของธุรกิจค้าปลีกไอทีคือ การเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และสินค้าไอที ทำให้ความนิยมของสินค้า “มาไว ไปไว” กว่าค้าปลีกกลุ่มอื่นๆ มาก วิสัยทัศน์ของคุณสุระมีความน่าสนใจตรงที่รู้จักปรับตัวไปตามสถานการณ์ ในวันที่ธุรกิจค้าปลีกคอมพิวเตอร์ไม่รุ่งเรืองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา หาก COM7 ยังยึดติดกับการจำหน่ายคอมพิวเตอร์เท่านั้น ธุรกิจก็คงไม่เติบโตมาถึงทุกวันนี้

แม้เผชิญกับ Covid-19 ส่งผลให้ COM7 ต้องปรับตัวอย่างหนักในช่วงที่ศูนย์การค้าปิดให้บริการ ตามนโยบายภาครัฐ แต่บริษัทก็สามารถประคับประคองตัวให้ผ่านพ้น และมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง  มีการปรับตัวไปจำหน่ายสินค้าผ่าน BNN Online หรือ Market Place  อื่นๆ พัฒนาสาขาแบบ Pop-up Store และจำหน่ายสินค้าด้วยกลยุทธ์ใหม่ ปรับสินค้าให้ตอบโจทย์การทำงานที่มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อรับกระแส Work from Home ส่งผลให้ยอดขายในกลุ่มของ Notebook เติบโตเป็นอย่างมาก รวมถึงผลตอบรับที่ดีของ iPhone12

  1. ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานเหมือนตอนทำธุรกิจใหม่ๆ

อีกหนึ่งแนวคิดที่เราได้เรียนรู้จากคุณสุระ นั่นคือ COM7 ค่อนข้างใส่ใจเรื่องการดูแลพนักงาน ไม่ต่างจากตอนที่ทำธุรกิจช่วงแรกๆ ตอนที่ยังเป็นร้านเล็กๆ ในพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ตั้งแต่เปิดปิดหน้าร้านเองและดูแลพนักงาน ก่อนขยายสาขาจนกลายเป็นเบอร์หนึ่งของตลาด การทำให้พนักงานมีความสุขกับการทำงาน ถือเป็นเรื่องจำเป็นเพราะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า ทั้งนี้ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงพยายามทำให้ COM7 และพนักงานมีความเป็นวัยรุ่น ไม่แก่เกินกว่าที่จะพยายามเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ

  1. ระบบคือเรื่องสำคัญ

ธุรกิจจะไม่สามารถขยายสาขาและเติบโตได้ หากขาดการวางระบบที่มีประสิทธิภาพ เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น การทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้น องค์กรจำเป็นจะต้องมีระบบที่ดีเข้ามาช่วยในการบริหารธุรกิจ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขาย จำเป็นต้องมีระบบบริหารงานขายที่ดี สามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้ รวมถึงการบริหารจัดการคลังสินค้า เพื่อไม่ให้สินค้าขาด หรือล้นสต๊อก อย่างในปี 63 ยอดขายที่เติบโตมาจาก ความสำเร็จในการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทุกกลุ่มธุรกิจ การจัดกิจกรรมการตลาด การนำเสนอขายสินค้าที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า กลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก Work from Home และเรียนออนไลน์ ทางบริษัทได้วางแผนเพื่อบริหารจัดการสินค้าให้เพียงพอกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น ให้ทันกับความต้องการของลูกค้า เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขายได้

ไม่ว่าจะเป็นการก้าวออกจาก Comfort Zone การลองผิดลองถูกในการทำธุรกิจ แม้จะลำบากในตอนแรก แต่สุดท้ายก็พบกับความสำเร็จ เห็นได้ชัดว่าการทำธุรกิจของคุณสุระไม่เคยหยุดนิ่ง และกล้าที่จะเปลี่ยน แต่จะไม่เสี่ยงออกไปทำธุรกิจอื่นนอกเหนือความถนัดหรือความเข้าใจ อีกทั้งยังมองหาโอกาสในการขยับขยายธุรกิจและรีบลงมือทำ โดยที่ไม่ต้องรอให้พร้อม 100%  รวมถึงการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ และสร้างโอกาสจากวิกฤต

Spread the love

About the author

invest2morrow

เว็บไซต์ให้ความรู้สำหรับการ "ลงทุน" สำหรับมือใหม่ และข่าวสารการลงทุนทั่วโลก
ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 0926565298